Wednesday, January 25, 2012

where are you baby?



ขอเตือนเอาไว้เลย หากต้องการมีลูก ต้องมีเมื่ออายุไม่เกิน 38 – 43 หากมีก่อนได้ยิ่งดี เพราะว่าเมื่ออายุมากขึ้น ไข่ของผู้หญิงก็คุณภาพน้อยลง คือโอกาสในการติดน้อยลง และยังมีโรคต่าง ๆ ให้น่าห่วง  นี่พูดจากประสบการณ์ อีกอย่างเมื่ออายุมากขึ้นก็ไม่มีกำลังที่จะไปวิ่งไล่เด็ก พัตกับลีอองเริ่มทำ ไอ วี เอฟ (เหมือนที่ยิลหลี วิลลี่ทำ) ตั้งแต่ปี 2008 แต่ว่าแรกเริ่มนั้นก็เป็นการทดสอบร่างกายเราว่ามีอะไรผิดปกติหรือเปล่าทั้งสองคน วันแรกพัตขับรถจากบ้านไปบอสตั้นใช้เวลาประมาณ 45 นาที โดยไปรับลีละอองที่ทำงาน ระหว่างทาง เพื่อที่จะไปคลินิกด้วยกัน เพราะส่วนตัวลีอองก็ต้องทดสอบด้วย หมอที่เลือกเป็นหมอผู้ชาย วันแรกก็ตรวจเลือดเลย 10 หลอดจากพัต และ 1 หลอดจากลีออง และสำหรับพัตต้องตรวจเอ็กซเรย์ ก็คือตรวจภายในนั้นแหละ เขาต้องการทำวันที่เรามีประจำเดือนก็เป็นเรื่องไม่สนุกเลย ปัญหาคือต้องขับรถกลับบ้านเองหลังจากนั้น ก็เพลีย ๆ เหมือนกัน เพราะนึกไม่ถึงว่าจะเอาเลือดมากขนาดนั้น เพราะว่าเขาต้องการเช็คทุกอย่าง ตอนแรกเห็นเจ้าหน้าที่เจาะเลือดนับหลอด เราก็เข้าใจว่าเขาหาหลอดที่เป็นชื่อเรา แต่เมื่อเจาะไปจึงถามเขาว่าทำไม่นานจัง จึงได้รู้ว่าเขาต้องการเลือดมาก เพราะว่าพัตจะเป็นคนกลัวเข็ม    จึงไม่มองเวลาเขาเจาะ


จากนั้นพอรู้ว่าเราสองคน ไม่มีใครผิดปกติ ก็หยุดไปหาหมอ ประมาณ 6 เดือน โดยใช้วิธีทดสอบช่วงเวลาการตกของไข่ ก็ยังไม่ได้ผล ก็เลยเริ่มกลับไปหาหมอใหม่ คราวนี้ต้องซื้อประกันเอง เพราะโรงพยาบาลที่นี่ไม่รับคนไข้โดยตรง แต่จะรับกับบริษัทประกัน  เรื่องของเรื่องก็คือ โดยปกติพัตไม่ต้องซื้อประกันเลย เพราะบริษัทลีอองคุ้มครองถึงภรรยาด้วย อีกอย่างสำนักงานใหญ่ของบริษัทลีอองอยู่ที่ซาน ดิเอโก ซึ่งที่นั้นบริษัทประกันไม่คุ้มครองถึงเรื่องการทำไอ วี เอฟ  ตั้งแต่กลางปี 2008   เป็นตันมา จนถึงทุกวันนี้พัตก็ต้องจ่ายให้บริษัทประกันเดือนละ 600 เหรียญทุกเดือน ไม่ว่าเดือนนั้นร่างกายเราไม่สามารถทำได้ก็ตาม ยิ่งอายุมากขึ้นค่าพรีเมียมก็เพิ่มขึ้นทุกปี   ลีอองพยายามมองโลกในแง่บวกว่าเราโชคดีที่อยู่ที่แมสซาชูเสสที่ซึ่งบริษัทประกันคุ้มครองถึงการทำไอ วี เอฟด้วย  มีบางคนที่ต้องมาเช่าบ้านอยู่ในรัฐนี้เพื่อการนี้โดยตรง และเราก็พอมีกำลังเงินที่สามารถจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อน แต่พัตก็เสียดายทุกครั้งไปเวลาเขียนเช็คจ่ายเงิน   นั้นก็เรื่องเงินผ่านไป
ต่อไปก็เรื่อง emotional & Physical  เราทั้งสองคน ต้องประคับประคอง และช่วยเหลือกันทุกอย่าง โชคดีที่บริษัทลีออง ไม่จำกัดเวลาเข้างาน ลีอองก็สามรถไปกับพัตได้ทุกทริป ช่วยขับรถให้ เพื่อพัตจะได้ไม่เครียด โดยเฉพาะช่วงหิมะตก เมื่อเริ่มทำหมอจะนัดเช้ามาก ๆ  นอกจากเหนื่อยแล้ว ความท้อมันก็เกิดขึ้นได้ ลีอองก็มีเวลาให้งานน้อยลง เพราะต้องดูแลพัตเวลาแพ้ยา และหมอห้ามเดินเร็ว ยกของ ทำความสะอาดบ้าน พูดง่าย ๆ นอนได้เป็นดี
เริ่มแรกบริษัทประกันจะไม่ให้โดดไปทำ ไอ วี เอฟ เลย (ก็คือการสร้างร่ายกายให้ผู้หญิงมีไข่ตกมาก ๆ แล้วเอาออกมาผสมข้างนอกกับน้ำเชื้อที่ทำความสะอาดและคัดทหารตัวน้อยที่แข็งแรงบึกบึน ให้กลายเป็นตัวอ่อนหรือเอ็มบริโอ แล้วฉีดกลับเข้ามาในผู้หญิง) ก็ต้องทำขั้นตอนเบสิคก่อนคือ ไอ ยู ไอ (การฉีดน้ำเชื้อที่แข็งแรงเข้าไปผสมกับไข่ผู้หญิงข้างในเมื่อไข่สุกเต็มที่) ก็เสียเวลาไปอีก จากนั้นก็กลับเมืองไทยบ้าง ไปพักผ่อนบ้าง เยี่ยมญาติลีออกบ้าง ก็ต้องยกเลิกการทำไป เพิ่งได้เริ่มทำจริงจังก็ปลายปี 2011 เป็นครั้งแรกที่ทำแบบสมบูรณ์พร้อมเต็มรูปแบบไอ วี เอฟ  ครั้งนั้นมีทั้งหมด 12 follicle -> 9 fertilized eggs (8 eggs are good quality)-> transferred into me 4 embryos , froze 4 embryos  ก็ล้มเหลวไม่ท้อง แต่ที่อารมณ์  Rollercoaster มาก ๆ ก็คือช่วงที่รอทดสอบการตั้งครรภ์ก็มีความหวังสูง ดูแลตัวเองอย่างดี งดการออกกำลังกายที่ชอบ ช่วงนี้ก็ไม่ทานกาแฟที่โปรด กินอาหารดี ๆ ลีอองก็ดูแลไม่ให้เราเครียดและไม่ให้เป็นห่วงอะไรทั้งสิ้น เป็นช่วงที่อยากได้อะไรก็ได้หมดว่างั้น พอไปทดสอบการตั้งครรภ์ตอนเช้าตรู่ ก็กลับมานอนรอผลที่บ้านด้วยความหวังและทำตัวเหมือนตัวเองท้องเลย สามีก็ตามใจเต็มที่ จัดที่นอนเตียงกลางวันให้ เอาอาหารให้ และแล้วเวลาที่รอคอยก็สิ้นสุดเมื่อพยายบาลก็โทรมาบอกว่าผลเป็นบวกก็ดีใจกันมาก แต่ว่าหมอต้องการยืนยันจึงให้พัตเข้าไปคลินิกอีกครั้งเพื่อตรวจระดับฮอร์โมนผ่านการเจาะเลือดในวันรุ่งขึ้น แน่นอนว่าวันนั้นทั้งวันก็ทำตัวเป็นคนท้องเต็มที่ และแล้วก็ท้องอยู่ได้แค่ 1 วัน  วันนั้นรับโทรศัพท์แล้วก็พูดไม่ออก กอดกับลีอองร้องไห้กันทั้งสองคน ใช้เวลาทำใจไปประมาณ 2    วัน ก็นัดประชุมกับหมอทางโทรศัพท์ว่าขั้นตอนต่อไปจะเอางัยดี แต่ขอหมอบอกว่าพวกข้าพเจ้าทั้งสองต้องการไปพักผ่อนที่อริโซน่าก่อนแล้วค่อยกลับมาทำ ก็จ่ายตั้งให้กับบริษัทประกันไปฟรี ๆ
ก่อนไปอริโซน่าหมอก็ถามความสมัครใจว่ารอบเดือนถัดไปจะเลือกทำแแบบไหน จะใช้ตัวอ่อนที่ฝากแช่แข็งไว้ 4 ตัว หรือจะเริ่มต้นตั้งแต่ศูนย์คือการกินยาคุมและตามด้วยขั้นตอน ก็คุยกับลีอองว่าเก็บตัวอ่อนไว้ก่อนดีกว่า เพราะว่ายิ่งอายุมากขึ้นคุณภาพไข่ก็น้อยลง ตอนนี้ก็เลยขอเริ่มจากศูนย์  ก็บอกหมอไปอย่างนั้น  หมอก็ตกลงตามนั้น
เราก็ไปพักผ่านที่อริโซนา กลับมาหมอโทรมาฝากข้อความไว้ในมือถือบอกว่าบริษัทประกันไม่ยอมให้เราทำแบบที่คุยกับหมอไว้ก่อนไป เพราะว่ามันจะแพงกว่าการใช้ตัวอ่อน (เอ็มบริโอ) ที่แช่แข็งซึ่งเรามีอยู่แล้ว เราก็ยอมแต่ก็สายไปเสียแล้วสำหรับรอบเดือนนั้นที่จะเริ่มต้นการกินยาและสอดยาเพื่อรองรับการถ่ายโอนเอ็มบริโอ ก็จ่ายเงินให้บริษัทประกันฟรีไปอีกเดือน จะเห็นได้ว่าไม่สามารถทำได้ทุกเดือนหรอกในรอบปี ใครจะไปทนได้โดยไม่มีการพักผ่อนบ้าง เพราะการทำนี้ต้องเครียดไม่ได้เด็ดขาด พัตก็เอาทุกอย่างโยคะ ฝังเข็ม ทำสมาธิ 
ขั้นตอนการทำไอ วี เอฟ จะเริ่มจาก เมื่อเป็นเมนส์ทุกครั้งต้องโทรหาพยาบาลประจำตัว เพื่อนัดวันตรวจเลือดและอุลตร้าซาวด์ (เหมือนเป็นการตรวจภายในนั้นแหละ แต่ท่อที่สอดยาว มาก ๆ  เมื่อก่อนตรวจภายในปีละครั้งก็อายหมอแทบแย่ แต่ตอนนี้ต้องทำเดือนละหลายครั้ง) ขณะเดียวกันก็ตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมน ตามด้วยให้กินยาคุม 10 วัน จากนั้นก็จะเป็นเมนส์ภายใน 5-7 วันหลังจากหยุดยาคุม  ก็ไปตรวจเลือดอีกครั้ง แล้วก็ต้องโทรคุยกับริษัทยาเพื่อจะสั่งยาฉีด (ฮอร์โมน) วันนนั้นทั้งวันก็จะยุ่งเรื่องโทรศัพท์ รับโทรศัพท์
เมื่อเริ่มฉีดก็ด้วยยา 1 ชนิดก่อนเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จะฉีดใต้สะดือ ลีอองจะเป็นคนฉีดให้ บางที่เข็มก็หนาทำให้ฉีดไม่เข้า ก็ต้องทำซ้ำ ๆ ทรมานมาก บางที่ก็ลืมไปว่าครั้งล่าสุดฉีดตรงไหนจะได้ไม่ซ้ำ ลีอองก็สงสารพัตมาก  เจ็บก็เจ็บแต่สงสารลีอองเลยก็บอกว่าไม่เจ็บมาก พอทนได้  ช่วงนี้ก็จะแพ้ยา ปวดหัว ปวดท้องเหมือนจะเป็นเมนส์ ตัวบวม เพลียมาก ๆ จากนั้นก็เข้าไปตรวจเลือดและอุลตร้าซาวด์เพื่อดูว่ามดลูกมีการสร้างฟอร์มของไข่มากน้อยแค่ไหน และก็วัดขนาด (Follicles) ช่วงนี้งดการออกกำลังกายเด็ดขาด เพราะว่าการกระโดดมาก ๆ ทำให้ตัว  Follicles จะไม่เจริญเป็นไข่ แต่จะเป็นซีสต์แทน  กาแฟทานได้แต่ว่าแค่ 1 ถ้วยเล็ก
เมื่อหมอบอกว่าไข่โตเต็มที่แล้วก็จะเพิ่มการฉีดฮอร์โมนเพิ่มอีกตัวเพื่อกระตุ้นไข่ครั้งสุดท้าย ก็จะเป็นการฉีดยา 2 ชนิดเป็นเวลา 3  วัน จากนั้นก็ตรวจเลือดและอุลตร้าซาวด์อีกที่ วันรุ่งขึ้นก็เป็นวันที่พัตไม่ชอบเลย คือ เป็นวันที่เขาจะเอาไข่ออก ก่อนหน้า 1  วัน ลีอองก็จัดเตรียมดูดผุ่น ย้ายเตียงนอนกลางวันมาไว้ใกล้เตาผิง เพื่อให้พัตได้พักผ่อนหลังจากกลับมา ส่วนพัตก็เตรียมทำอาหารไว้ล่วงหน้า เพราะหากพึ่งลีอองเรื่องอาหารก็คงได้กินพิซซ่าไหม้กรอบอีกรอบ
ครั้งล่าสุด (Jan.16th) เอาออกมาได้ทั้งหมดจาก 9  follicles -à 8 eggs หมอไม่สามารถเอาออกมาได้ทั้งหมดซึ่งเป็นเรื่องปกติ  อ้ออีกอย่างขั้นตอนนี้ลีอองเองก็ต้องเอาน้ำเชื้อให้หมอเตรียมพร้อม โดยเขาจะทำความสะอาดและคัดตัวที่แข็งแรงในห้องแล็บ เพื่อที่จะผสมกับไข่ทันทีหลังจากเอาออกมาได้ 
ขั้นตอนนี้ก็เริ่มด้วยให้น้ำเกลือ ฉีดยาสลบ แล้วขึ้นขาหยั่ง ในห้องผ่าตัด ขั้นตอนนี้ลีอองไม่สามารถเข้าไปได้ ซึ่งทรมานเขามาก เพราะทุกครั้ง ทุกขั้นตอนเขาจะอยู่ด้วย คอยจับมือและดูจอมอนิเตอร์ตลอด จากนั้นเขาก็เข็นไปอยู่ในห้องพักฟื้น พยาบาลก็จะเรียกชื่อให้ตื่น  ถามว่าต้องการเครื่องดื่มอะไร  และเอาแครกเกอร์ด้วยหรือเปล่า พัตก็ขอกาแฟทุกครั้งแต่เป็นดีแคฟ และพยาบาลก็บอกให้ลองไปฉี่ดู จะปวดมากและมีเลือดออก ซึ่งเป็นเรื่องปกติดที่วันแรกของขั้นตอนนี้จะมีเลือดออกและปวดท้อง กลับมาถึงบ้านก็ต้องนอนอย่างเดียว ยิ่งนอนมาก ยิ่งหายเร็ว แต่ทรมานเวลาเข้าห้องน้ำจะเจ็บหน่วง ๆ ตลอด  และวันถัดไปก็ต้องสอดยาในช่องคลอด ซึ่งก็คือฮอร์โมนอีกตัว  เพื่อเป็นการสร้าง Linings คือผนังมดลูก รองรับการฉีดตัวอ่อนที่ผสมกับน้ำเชื้อข้างนอกกลับเข้ามา  จะเป็นประมาณ 3-5 วัน แล้วแต่ว่าเราต้องการเอ็มบริโอที่มีอายุ 3 วัน  หรือ 5 วัน อย่างที่ผ่านมา หมอบอกว่าหากเอ็มบริโอแข็งแรงที่จะให้ฉีดกลับเข้ามาที่พัตที่อายุ 5  วัน และจะฉีด  2 เอ็มบริโอ  แต่ว่าหมอตัดสินใจฉีดกลับมาที่พัตที่อายุของเอ็มบริโอที่ 3  วัน และฉีด เข้า 4 เอ็มบริโอ เพราะว่าหมอกลัวว่าเอ็มบริโอจะตายเสียก่อนถึงวันที่ 5 ก่อนและหลังการถ่ายโอน ทำพัตก็จ่ายพิเศษเพื่อทำการฝังเข็มให้ร่างกายได้พักผ่อนและเลือดไหลเวียนดี โดยทำเป็นเวลา 30 นาที   ตอนนี้พัตกับลีอองก็ได้แต่รอและก็ต้องสอดยาทุกวัอย่างที่บอกแล้วเพื่อสร้างผนังมดลูกให้หนา ไว้รองรับการตั้งครรภ์บนสมมุติฐานที่ว่าตัวอ่อนทั้ง 4 ตัวที่อยู่ในพัตตอนนี้ จะมีตัวใดตัวหนึ่งอยู่กับพัตตลอดไปอีก 9 เดือน วันที่ Jan.30th นี้แหละรู้ผล ก็ได้แต่ขอให้ตัวเองมีความเข็มแข็ง พยายามมองโลกในแง่บวก แต่บางทีมันก็เต็มทนเหมือนกัน และเพื่อน ๆ ที่นี้ทุกคนก็น่ารัก น้องสาวลีออง พ่อแม่ลีอองก็ให้กำลังใจอยู่เรื่อย ก็คิดว่าหากมีไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะว่าเราได้พยายามอย่างดีที่สุดแล้ว


ลีอองเองก็เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เข็มแข็งมากกว่าที่พัตคิดเสียอีก   เราเองก็จากที่เคยเป็นคนกลัวเข็มก็กลายเป็นว่าฉีดยาจนชิน และสามารถใช้วิชาชีวะวิทยาสมัยเรียนได้เต็มที่ก็ในครั้งนี้แหละ ด้วยประสบการณ์ตัวเองก็พอสรุปเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในการทำ ไอ วี เอฟ ดังนี


-          ไม่สามารถวางแผนทำอย่างอื่นได้ เนื่องจากเวลาที่ทำไอ วี เอฟ ไม่แน่นอน ขึ้นกับสภาพร่างกายเราว่าสนองต่อยาตอนไหน


-          สามีต้องให้กำลังใจเต็มที่ และมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน


-          คงซับซ้อนมากขึ้นหากทำงานเต็มเวลา


-          กำลังเงินต้องถึง


-          เวลาต้องยืดหยุ่น


-          สุขภาพต้องแข็งแรง


-          อารมณ์ต้องมั่นคงและพยายามมองโลกแง่บวก

Come to mama, baby….

No comments:

Post a Comment

Powered By Blogger

Pages :Travel

Movie I like

  • 17 again
  • August Rush
  • Away we go
  • Before the devil know you’re dead
  • Blind Side
  • Burn after reading
  • He’s just not that into you
  • Its complicate
  • Julie & Julia
  • Juno
  • Milk
  • Pineapple Express
  • The curios case of Benjamin Button
  • The reader